วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้ โดย ดร. สมพร จองคำ

พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้ ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาจนถึง ขั้นที่นำมาใช้ประโยชน์ในระดับขั้นการค้า หรือการบริการสาธารณูปโภคได้แล้ว เช่น ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันแบบห่วงโซ่ของไอโซโทป* ยูเรเนียม-๒๓๕ และของไอโซโทปที่แตกตัวได้ (fissile isotopes) อื่นๆ อีก ๒ ชนิด คือ ยูเรเนียม-๒๓๓ และ พลูโตเนียม-๒๓๙ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำงานโดยหลักการของปฏิกิริยาฟิชชันแบบห่วงโซ่ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (nuclear reactor) และเนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์นี้ให้ พลังงานความร้อนออกมาด้วย จึงนิยมเรียกกันว่า เตาปฏิกรณ์ หรือเตาปรมาณู การที่มีผู้นิยมเรียกเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ว่า "เตาปรมาณู" นั้น อาจกล่าวได้ว่า ถูกต้องตามแนวคิด เพราะเมื่อมองในแง่ ของการใช้งานแล้ว เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ก็คือ ระบบอุปกรณ์ที่ใช้ปลดปล่อยพลังงานที่ถูกกักไว้ในแกนกลาง (นิวเคลียส) ของปรมาณูของไอโซโทปที่แตกตัวได้ และให้ ออกมาเป็นพลังงานความร้อน และอนุภาคนิวตรอนซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้ต่อไป * ไอโซโทป คือ อะตอมของธาตุชนิดเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสเท่ากัน แต่มีจำนวนนิวตรอนในนิวเคลียสต่างกัน เช่น ธาตุไฮโดรเจนมีไอโซโทปที่มีอยู่ในธรรมชาติ ๓ ชนิด คือ ไฮโดรเจน-๑ (1H) ไฮโดรเจน-๒ (2H) ไฮโดรเจน-๓ (3H) ธาตุยูเรเนียมมีไอโซโทปที่มีอยู่ในธรรมชาติ ๓ ชนิด คือ ยูเรเนียม-๒๓๔ (234U) ยูเรเนียม-๒๓๕ (235U) ยูเรเนียม-๒๓๘ (238U) ไอโซโทปบางตัวไม่มีในธรรมชาติ ต้องผลิตจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ เช่น ยูเรเนียม-๒๓๓ ได้จากทอเรียม-๒๓๒ ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาทำปฏิกิริยานิวเคลียร์กับอนุภาคนิวตรอน พลูโตเนียม-๒๓๙ ก็ไม่มีในธรรมชาติ ต้องผลิตขึ้นมาในลักษณะเดียวกันจากไอโซโทปยูเรเนียม-๒๓๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น